ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี หัวหน้าโครงการกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554? สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.ร่วมกับบริษัท วีนิไทยจำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซีและโซดาไฟ รับสมัครเยาวชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมค่าย "การสร้างกล้องดูดาวพีวีซีเฉลิมพระเกียรติฯ ๘๔ พรรษา"
?เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนไทย ได้เรียนรู้หลักการทางวิศวกรรมในการออกแบบและประดิษฐ์กล้องดูดาวด้วยตนเอง โดยใช้ท่อพีวีซีซึ่งหาง่ายมีความแข็งแรงทนทานดูแลรักษาง่ายและราคาถูกมาประยุกต์ใช้เป็นลำตัวกล้อง กล้องที่ประดิษฐ์ขึ้นมามีประสิทธิภาพสูง เมื่อติดตั้งเลนส์แล้วสามารถใช้ดูดาว แกแลกซี และดวงอาทิตย์ได้
? โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาและคณาจารย์จากโรงเรียนทั่วประเทศ ได้ทำกิจกรรมค่ายวิศวกรรมการออกแบบประดิษฐ์กล้องดูดาวที่มีประสิทธิภาพสูงจากท่อพีวีซี มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี 2554-2556 ตั้งเป้ามีนักเรียนและคณาจารย์จาก 84 โรงเรียน และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 15 แห่งเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 มม. และ 300 มม. รวมทั้งสิ้นจำนวน 99 ตัว เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ต่อไป
?"กิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงสอนให้นักเรียนผลิตกล้องดูดาวเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิต และการซ่อมแซมกล้องดูดาวได้ด้วยตัวเองเมื่อพบปัญหา" ดร.สวัสดิ์ กล่าว
?นายกุนเธอร์ นาโดนี่ กรรมการผู้จัดการวีนิไทย เพิ่มเติมว่า บริษัทเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ? ซึ่งปัจจุบันยังมีการขาดแคลนอยู่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยเริ่มตั้งแต่ระดับเยาวชน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้ร่วมมือกับ สวทช.ดำเนินโครงการกล้องดูดาวพีวีซีฯ ดังกล่าว และหวังว่าโครงการนี้จะสร้างแรงจูงใจ และปลูกฝังเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และดาราศาสตร์แก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษา
?พร้อมกันนี้ สวทช.ยังร่วมกับองค์กรอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency; JAXA) เปิดรับสมัครโครงงานวิจัยของนักวิจัย นักเรียนและนักศึกษา เพื่อคัดเลือกและส่งผลงานวิจัยขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ และขึ้นทำการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนเที่ยวบินพาราโบลิก
?สำหรับโครงการ JAXA เป็นที่คาดหมายได้ว่า ผลจากความร่วมมือนี้น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในการค้นพบผลงานวิจัยใหม่ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ที่นอกจากจะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความตื่นตาตื่นใจมาสู่สาธารณชนแล้ว ยังเปิดโลกแห่งการค้นคว้าวิจัย ให้กับวงการวิชาการในหลายๆสาขา? ไม่ว่าจะเป็นด้านยารักษาโรค วัสดุชนิดใหม่ รวมไปถึงการแปรเปลี่ยนยีนที่ทำให้ได้พืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ
?"นักวิจัย นักเรียนและนักศึกษา ที่สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการทดลองในอวกาศหรือการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกพร้อมเจ้าของผลงาน จะได้ขึ้นทำการทดลองบนเครื่องบินที่ทำการบินแบบพาลาโบลา? โดย สวทช. จะมีทีมนักวิจัยช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาชุดการทดลอง และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำการทดลองที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย" ดร.สวัสดิ์ กล่าว
?นักเรียนหรืออาจารย์ที่สนใจค่ายผลิตกล้องดูดาว และรายละเอียดโครงการ JAXA ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่
http://www.nstda.or.th/jaxa-thailand/